|
หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ >
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร้ายกว่าที่นึก...ลึกกว่าที่คิด...
วันที่ : 21/01/2016
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร้ายกว่าที่นึก...ลึกกว่าที่คิด... โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ ดูเหมือนว่า หลายๆ ประเทศแถบยุโรปเริ่มใช้กฎหมายเกี่ยวกับ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับผู้นำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายแล้ว รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย กฎหมายนี้เรียกว่า WEE บังคับให้ผู้ส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกลุ่มประเทศเหล่านั้น ต้องนำเครื่องเก่าผลิตภัณฑ์เดียวกันจากประเทศผู้ซื้อนั้นกลับไปทำลายทิ้งที่ประเทศผู้ส่งออกด้วย แน่นอนว่า นี่เป็นภาระหนักของผู้ผลิต เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เจ้าของสินค้าด้วย ดังกรณีประเทศญี่ปุ่น ดูเหมือนจะมีบริษัทมัตซึชิตะ (เจ้าของแบรนด์ Panasonic) เพียงเจ้าเดียวที่ลงทุนสร้างโรงงานแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ลงทุนนับล้านๆ เยน เพราะมัตซึชิตะเล็งที่จะขายบริการนี้ให้แก่ผู้ผลิตญี่ปุ่นด้วยกัน ถึงยังไงก็ไม่มีทางเลือกต้องมาใช้บริการนี้แน่ๆ ถ้าส่งสินค้าออกไปขาย “จากประเทศญี่ปุ่น” โดยตรง ตรงนี้ทำให้นึกฉุกใจขึ้นมาว่า ถ้าเราเป็นประเทศผู้ผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าขนาดใหญ่ระดับโลก คงต้องชั่งใจให้ดี ระหว่างการจงใจย้ายโรงงานผลิตไปยังประเทศที่หละหลวมในเรื่องมลภาวะเป็นพิษ (เช่น กลุ่มประเทศที่หิวเงินลงทุนแบบหน้ามืดอย่างประเทศไทย ประเทศเวียตนาม ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ฯลฯ) เพื่ออาศัยกลุ่มประเทศเหล่านั้นเป็นที่ “ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า” ที่จำเป็นต้องนำกลับมาจากประเทศที่ตนเองส่งของไปขาย (เพราะกฎหมายเขาบังคับ) หรือจะสร้างและใช้บริการโรงกำจัด คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของตัวยดีเอง (อย่างญี่ปุ่นขาดแคลนพื้นที่ในการก่อสร้างมากกว่าประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว) ดูจากรูปการณ์ที่ “ขาใหญ่” พากันย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศละแวกอาเซียนอย่างไทยและเพื่อนบ้าน แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเลือกอย่างแรก น่าจะมีการแอบเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับมาทิ้งในประเทศผู้ส่งออก (เป็นฐานผลิต) แถมยังแอบอ้างบุญคุณบังหน้าได้อีกว่า มาช่วยสร้างงานให้กับรากหญ้าในประเทศนั้นๆ (จากการสำรวจพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 30-35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีการส่งเข้าโรงงานแยกขยะ แล้วอีก 70 เปอร์เซ็นต์หายไปไหน) ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า กองโรงงานอุตสาหกรรมบ้านเราได้เคยเอะใจกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ อย่าลืมว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้น่ากลัวยิ่ง ย่อยสลายก็ยากมาก ค่าแยกและกำจัดขยะเหล่านี้แพงลิบลิ่ว ไม่คุ้มค่ากับการให้โรงงานพวกนี้มาลงทุนเลย อย่าหลงใหลได้ปลื้มว่า “ขาใหญ่” มาสร้างงานให้พวกเราเรื่องกำไรนะ พวกเขาฟันหัวคิวจากชิ้นส่วนที่ส่งเข้ามาจากบริษัทแม่ของเขาไปแล้วทอดหนี่ง ส่วนโรงงานที่บ้านเราก็ทำให้มันเท่าทุนหรือขาดทุน แถมเรียก VAT คืนจากการส่งออกจากรัฐบาลอีกด้วย แถมยังเคยมีขาใหญ่บางเจ้าหลุดปากว่า จริงๆ แล้วค่าแรงคิดออกมามีมูลค่าไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต นั่นก็คือ เบื้องหลังที่พวกเขาย้ายฐานการผลิต (จริงๆ แค่ฐานประกอบชิ้นส่วน) มาบ้านเราหรือกลุ่มประเทศแถวนี้ ไม่ใช่เรื่องค่าแรงที่ต่ำเลย หากแต่เป็นเรื่องอื่นที่ลึกซึ้งมากกว่านั้นและถูกปิดบังไว้ต่างหาก www.maitreeav.com |